ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

กลุ่มที่ ๓ จิตตะ เรื่อง สุ จิ ปุ ริ รับฟัง ใส่ใจ สอบถาม บันทึก



สุ  จิ  ปุ  ริ   รับฟัง  ใส่ใจ   สอบถาม  บันทึก
                การศึกษา ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  ในด้านประวัติศาสตร์ ด้านพุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์  คณะพระธรรมทูตทั้งหลายได้เกิดแนวคิดและมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ได้รับฟังการบรรยายจากพระธรรมวิทยากร ผู้มีประสบการณ์ด้านข้อมูลและประสบการณ์ ทั้งในพระไตรปิฏกและเหตุการณ์ในปัจจุบัน ช่วงของการฟังการบรรยายแต่ละวันนั้น
โดยเริ่มการบรรยายตั้งแต่สถานที่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา  ที่พระพุทธองค์ทรงทอดร่างดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานด้วยประวัติความสำคัญ ๆ หลายประการ ที่พระพุทธองค์ทรงเลือกสถานที่แห่งนี้ดับขันธปรินิพพาน  เพราะในอดีตนั้นมีพระพุทธเจ้าหลาย ๆ พระองค์ ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานอยู่ที่เมืองนี้มาก่อน  จนมาถึงสมัยของพระพุทธองค์
เมืองกุสินาราในปัจจุบันถึงจะเป็นเมืองเล็ก  แต่ในอดีตนั้นเคยเป็นเมืองใหญ่และอุดมไปด้วยสรรพสิ่งต่างๆ จากการศึกษาในพระไตรปิฏก หรือพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ พุทธานุพุทธประวัติ และตำราอื่น ๆ มากมาย ก็ยังไม่สามารถสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงใจ  แต่เมื่อได้เดินทางมาศึกษายังดินแดนพุทธภูมิ  สถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศพระศาสนา  และสามารถทำให้ประชาชนทุกระดับทุกศาสนาที่ยังไม่เคยเลื่อมใส ได้หันหน้าเข้ามาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
พระธรรมทูตไทยที่ได้มาศึกษาปฏิบัติธรรเชิงลึกได้ยินได้ฟังแล้ว  ทำให้มองย้อนไปถึงอดีตว่าพระพุทธองค์ทรงใช้ความวิริยะ  อุตสาหะ  อย่างแรงกล้าในการประกาศพระศาสนา
                ดังนั้นพระธรรมทูตไทยที่ได้มาศึกษาปฏิบัติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ ได้สัมผัสกับสภาพเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เห็นสถานที่จริง ที่พระธรรมทูตไทยยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน ความรู้สึกในใจของพระธรรมทูตจริง ๆ แล้ว อยากให้พระสงฆ์ไทยทุกรูปได้มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศอย่างนี้บ้าง  จะได้เกิดสภาวธรรมจากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงแค่ศึกษาจากตำราแค่นั้นยังไม่พอกับการออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  แต่จะเป็นไปได้ไหมว่าในประเทศไทยมีประชากร ๖๐ กว่าล้านคน  จะมีผู้มีจิตศรัทธามาสนับสนุนพระสงฆ์ไทยให้มาปฏิบัติธรรมเชิงลึกอย่างนี้อีกบ้าง เอาไว้ต่อฉบับหน้า สาธุ  สาธุ  สาธุ  


วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

กลุ่มที่ ๒ วิริยะ เรื่องสถานพยาบาลไทย..สถานพยาบาลธรรม



สถานพยาบาลไทย..สถานพยาบาลธรรม

พระพุทธศาสนากล่าวถึงโรคไว้ ๒ ประการ คือ โรคทางกาย(กายิกโรค หรือ กายิกทุกข์)โรคทางใจ(เจตสิกโรค หรือ เจตสิกทุกข์) ทุกข์ และ โรค มีความหมายอันเดียวกัน คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ  พระพุทธองค์ได้รับการสรรเสริญจากเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า เป็นนายแพทย์ผู้เยียวยารักษาสัตว์โลกทั้งปวง(สัพพโลกาติกิจฺฉโก)  พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่รักษาโรคทางใจได้ยอดเยี่ยมที่สุด  ส่วนนายแพทย์ที่รักษาโรคทางกายผู้ซึ่งได้รับการยกย่องและยอมรับว่ายอดเยี่ยมในสมัยพุทธกาล คือ หมอชีวกโกมารภัจ 
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ โดย พระราชรัตนรังษี ได้มองเห็นโรคทั้งสองทางนี้  จึงได้สร้างสถานพยาบาลหรือคลีนิคขึ้น   เพื่ออนุเคราะห์และเผยแผ่ความสุขแก่ส่วนรวม  ซึ่งเริ่มด้วยการรักษาโรคทางกายก่อน  และได้ขยายให้เป็นสถานที่รักษาโรคทางใจด้วย
สำหรับการรักษาโรคทางกายนั้น  ทางวัดใช้นโยบาย ๕ รูปี รักษาทุกโรค  โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒  และในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น ๘ รูปีรักษาทุกโรค  โดยเฉพาะในทุกวันพระ  จะเปิดรักษาฟรี  ซึ่งมีผู้เข้ารับการรักษาประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน  ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ๖๐ กิโลเมตรจากสถานพยาบาลกุสินาราคลีนิคแห่งนี้    
ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ  เสด็จมาวางศิลาฤกษ์
ตั้งแต่นั้นมา  ได้มีคณะศรัทธาจากประเทศไทยเรา  ได้ร่วมกันแจ้งความประสงค์  เพื่อเป็นเจ้าภาพในการสร้างสถานพยาบาลแห่งนี้ให้แล้วเสร็จ  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปเกือบ ๘๐ % แล้ว  คิดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปลายปีนี้(๒๕๕๒)
สิ่งที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง  คือชั้นบนสุด  ซึ่งเป็นห้องประชุมใหญ่พอควร  จะใช้เป็นห้องรักษาโรคทางใจ  นั่นคือการสอนกรรมฐาน  ใช้เป็นห้องบรรยายธรรม  โดยเน้นวิปัสสนาเป็นสำคัญ   ซึ่งห้องนี้จะเปิดกว้างสำหรับผู้มาให้ความรู้ในด้านการรักษาโรคทางใจ  ไม่กำจัดว่าจะมีวิธีการสอนอย่างไร  แต่ขอให้ช่วยผู้ที่ประสบทุกข์ทางใจได้ 
ชีวกัมพวันเป็นโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกครั้งพุทธกาล ฉันใด  กุสินาราคลีนิคก็เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกที่เกิดจากศรัทธาประชาชนชาวไทยในแดนพุทธภูมิ  ฉันนั้น 
ขอทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการรักษาโรค  ด้วยการยึดถือหลักการให้  เป็นจุดเชื่อมต่อและประสานสัมพันธ์งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา  จงมีสุขภาพเข้มแข็ง  แรงใจดีเสมอ  มีสติอย่าพลาด  เฉลียวฉลาดอย่าเผลอ  ประพฤติธรรมอันเลิศเลอ  ได้เสนอสนองคุณพระบรมศาสดา  โรคเจ็บอย่ามาใกล้  โรคใจอย่ามากราย  โรคร้ายอย่ามากร้ำ  โรคกรรมอย่ามาเจอ ...สาธุ  สาธุ  สาธุ  อนุโมทามิ